วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

วช. และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ณ จ.เชียงราย

 



เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์


โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา, นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน, นายชานนท์ โตเบญจพร ผู้แทน กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย เข้าร่วมแถลงข่าวจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.  ได้ดำเนินการสนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดย วช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 ณ จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต



นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจังหวัดเชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจังหวัดเชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน



ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม





รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”



ถัดมา กิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ“การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว








วช. ขอประชาสัมพันธ์และเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย ดังนี้
• วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย พบกับการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”  โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น) และรับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพฤษภาคม อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย 
• วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดย ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
• วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ขอเชิญลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ > โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ > วัดดงมะเฟือง > เขื่อนแม่สรวย และสิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา (รับจำนวนจำกัด 50 ท่าน)

ZPOT ชวนเที่ยวสวนสัตว์ ทั้งประเทศ ต้อนรับวันแรงงานแห่งชาติ (May Day)

 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) ขอเชิญพี่น้องผู้ใช้แรงงานเที่ยวสวนสัตว์ 6 แห่ง 1 โครงการ ชมสัตว์ป่านานาชนิด ในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. นี้

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันแรงงานสากล (May Day) ซึ่งเป็นวันหยุดประจำปีของผู้ใช้แรงงาน ที่เฉลิมฉลองกันทั่วโลก เพื่อระลึกถึงผู้ใช้แรงงานที่ทำประโยชน์กับสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับสวนสัตว์ทั้ง 6 แห่ง 1 โครงการ ได้เตรียมต้อนรับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และนักท่องเที่ยวทุกคน

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว พิเศษสุดสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานเชิญร่วมงานมหกรรมธงฟ้า ราคาประหยัด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นำสินค้ามากกว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% และพบกับพาเหรดมาสคอตสัตว์ป่า ชมโชว์งูสวยงาม แห่งบ้านงูยิ้ม เกมส์ลุ้นรับของรางวัลมากมาย และชมสัตว์ป่าตอนกลางคืน Kwao Kheow Night Zoo สัมผัสชีวิตสัตว์ป่ายามค่ำคืน

สวนสัตว์เชียงใหม่ พบกับซู อควาเรียม ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีอุโมงค์ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดและน้ำเค็ม มากกว่า 250 สายพันธุ์จำนวน 20,000 ตัว อีกทั้ง เชียงใหม่ ซู สโนว์โดม เมืองหิมะจำลอง สัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็นกับอุณหภูมิติดลบ 7 – 10 องศาเซลเซียส และร้านธงฟ้า ราคาประหยัด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อาทิ เสื้อผ้า อาหารทานเล่น และเครื่องดื่มคลายร้อนหลากหลายเมนู


สวนสัตว์นครราชสีมา พบกับ 5 สัตว์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทุ่งแอฟริกา สิงโต เสือดำ เสือดาว ช้างแอฟริกา และควายป่า ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นแอฟริกาเมืองไทย พบกับสินค้าจากร้านธงฟ้า ราคาประหยัด อาทิ อาหารแปรรูป อาหารปรุงสำเร็จ และอื่นๆมากมาย

สวนสัตว์สงขลา เพลิดเพลินไปกับความน่ารักของสัตว์นานาชนิดภายในสวนสัตว์แห่งแรกของภาคใต้ ท่ามกลางขุนเขา ที่โอบล้อมด้วยทะเลสาบสงขลา กิจกรรมอาบน้ำ ‘แรด’ พร้อมกิจกรรมป้อนอาหารให้แรดอย่างใกล้ชิด เรียนรู้พฤติกรรมและองค์ความรู้แบบ ‘แรดแรด’ ตลอดจนทำความเข้าใจวิถีชีวิตของแรดและความเข้าใจผิดๆ ที่มีต่อแรดและสัตว์ในตระกูลแรดมีเกมและของรางวัลอีกมากมาย

สวนสัตว์ขอนแก่น ผ่อนคลายแบบสบาย ๆ เพลิดเพลินกับสัตว์นานาชนิด คลายร้อนด้วยสวนน้ำบนภู พบกับ สินค้าอาหารแปรรูป จากร้านธงฟ้า ราคาประหยัด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์แบบ Jungle Park หรือการนำเอาสวนสัตว์เข้ามาผสมผสานกับความอุดมสมบูรณ์ของป่า

ภายในพื้นที่ พบกับโลกของเขาและสัตว์เลื้อยคลาน “Ubon Zoo Reptile Island” สัมผัสความน่ารักสัตว์ แปลกตาและสีสันอันสวยงามของสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูหลามทอง งูหลามบอล งูคอร์นสเนค งูเขียวบอน เต่าเหลือง เต่าซูลคาต้า อีกัวน่า และพิเศษสุดกับนิทรรศการเรื่องของเขา (เขาสัตว์) พบกับ สินค้าอาหารกระป๋อง จากร้านธงฟ้า ราคาประหยัด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เป็นโครงการฯ ที่มีช้างเลี้ยงที่มากที่สุด (200 เชือก) ชาวกูยมีอาชีพเลี้ยงช้าง มีความชำนาญการควบคุมดูแลและการฝึกช้างแสดง มีความรักความผูกผันใกล้ชิดกับช้างเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัว / เป็นที่ตั้งของชาวกูยชุมชนคนเลี้ยงช้างแต่ดั้งเดิม มีประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ / มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งป่าไม้ ทุ่งหญ้า และแม่น้ำ / มีกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ได้แก่ วัดป่าอาเจียง เป็นที่ตั้งของสุสานช้าง โฮมสเตย์วิถีชาวบ้านในชุมชนรอบโครงการฯ

​​ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 นี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานมาเที่ยวชมสวนสัตว์ใกล้บ้านท่านในช่วงวันหยุดสุดพิเศษนี้ นายอรรถพร…กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

“ศุภมาส“ หารือความร่วมมือสถาบัน Le CNAM ต่อยอดความร่วมมือทางด้านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรมของไทย พร้อมพบปะนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส

 

วันที่ 26 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมด้วย ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้บริหาร วช. เยือนสถาบัน Conservatoire national des arts et métiers; Le CNAM สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมี Ms. Bénédicte FAUVARQUE-COSSON, General Administrator, Prof. Stéphane Lefebvre, Deputy Administrator in charge of Research Department, Mrs. Carmen Branescu, Director of European and International Affairs และ Mrs. Anne-Laure Carré,Head of collections at the Musée des arts et métiers ให้การต้อนรับ และร่วมเจรจาหารือความร่วมมือ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันครั้งนี้ กระทรวง อว. และ วช. มีเป้าหมายที่จะทำให้ความร่วมมือระหว่าง วช. และ CNAM สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อาทิ ความร่วมมือในการทำวิจัยในหัวข้อที่สนใจร่วมกัน ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการวิจัย ตลอดจนวางแผนความร่วมมือในการมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิควิธีการในการบริหารจัดการด้านพิพิธภัณฑ์ผ่านกิจกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การจัดประชุมสัมมนาที่นักวิจัยสามารถนำเสนอผลงาน แบ่งปันประสบการณ์ และมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อทางนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันต่อไป

Le CNAM เป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมวิชาชีพระดับสูงตลอดชีวิต ก่อตั้งขึ้นมากกว่า 300 ปี โดยมีเป้าหมายในแรกเริ่มเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ปัจจุบัน CNAM เป็นหน่วนงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทำหน้าที่ส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และวิชาชีพ โดยมุ่งเป้าหมายการทำงานในบทบาทสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมฝึกอบรมวิชาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต  การส่งเสริมการวิจัย  และ การเผยแพร่วัฒนธรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคนิคต่างๆ ทั้งนี้ภายใต้การดำเนินงานตามเป้าหมาย สถาบันได้พัฒนากิจกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องมากมาย  เช่น หลักสูตรการฝึกอบรมที่สำคัญกว่า 750 หลักสูตร เครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและห้องปฏิบัติการต่างประเทศ นอกจากนี้ CNAM ยังดูแลในส่วนของพิพิธภัณฑ์ Musée des Arts et Métiers ซึ่งได้อนุรักษ์คอลเลคชันทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ภายหลังการหารือ รมว. อว. และ คณะผู้บริหารของ วช. พบปะนักเรียน และนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Musée des Arts et Métiers  ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผสมผสานทั้งความเป็น Art & Science เข้าด้วยกัน โดยนำมาจัดแสดงในรูปแบบล้ำสมัยและน่าสนใจต่อผู้ศึกษา โดยคาดหมายว่าความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งศาสตร์และศิลป์ในประเทศไทยได้ต่อไป

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง คว้ารางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024

 อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง คว้ารางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024



รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024) จากคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC Sub Commission for the Western Pacific: IOC-WESTPAC) ภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ปัจจุบัน IOC-WESTPAC ประกอบด้วย 22 ประเทศสมาชิก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ฯลฯ
พิธีมอบรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2nd UN Ocean Decade Regional Conference & 11th WESTPAC International Marine Science Conference ภายใต้หัวข้อ “Accelerating Ocean Science Solutions For Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ

นาย Wenxi Zhu หัวหน้าสำนักงาน IOC-WESTPAC ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของ UNESCO ในภูมิภาค กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและชายฝั่ง สุขภาพของระบบนิเวศในมหาสมุทร การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นก้าวสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก IOC-WESTPAC มอบรางวัล Outstanding Scientist Award ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยม 5 ท่าน และในปี ค.ศ. 2017 จำนวน 3 ท่าน สำหรับในปี ค.ศ. 2024 IOC-WESTPAC พิจารณาคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์มหาสมุทรในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จำนวน 5 ท่าน ดังนี้
1) Dr. Zainal Arifin, National Research and Innovation Agency, Indonesia
2) Dr. Thamasak Yeemin, Ramkhamhaeng University/Marine Science Association of Thailand
3) Dr. Daoji Li, East China Normal University, China
4) Dr. Vo Si Tuan, GEF/UNEP South China Sea SAP Project/ Institute of Oceanography, Vietnam
5) Dr. Gil Jacinto, University of the Philippines, the Philippines

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นผู้ที่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษในการทำงานด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มีประสบการณ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการจัดการ การอนุรักษ์ และการวิจัย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Coral Reef Society และเป็นประธานการจัดประชุมวิชาการ Second Asia Pacific Coral Reef Symposium เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร International Society for Reef Studies (ISRS) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนหน่วยงานระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หน่วยงานระดับท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อวางแผนและดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ASEAN-Australia Economic Cooperation Program on Marine Science Project, UNEP/GEF Project on Reversing Environmental Degradation Trends in the South China Sea and Gulf of Thailand, Global Coral Reef Monitoring Network, International Coral Reef Initiative, International Maritime Organization, United Nations Development Programme, German Corporation for International Cooperation GmbH, ASEAN Center for Biodiversity, Too Big To Ignore Project: Global Partnership for Sustainable Fisheries Research, COBSEA Working Group on Marine and Coastal Ecosystems ฯลฯ

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ได้รับเชิญให้เป็น Keynote Speaker, Invited Speaker และ convenor ของการประชุมนานาชาติจำนวนมาก เช่น International Coral Reef Symposium, International Marine Conservation Congress, Asian Marine Biology Symposium, Pacific Science Congress, IMBeR West Pacific Symposium ฯลฯ เป็น project leader ของ IOC-WESTPAC Program on the Coral Reef Resilience to Climate Change and Human Impacts เป็นประธาน และผู้ร่วมจัด First, Second and Third Summer Schools for IOC/WESTPAC-CorReCAP Project และสนับสนุนการดำเนินงานของ IOC-WESTAPAC มาอย่างต่อเนื่อง เป็นบรรณาธิการรับเชิญของวารสาร Deep-Sea Research Part II (ELSEVIER), Coral Reefs under the Climate and Anthropogenic Perturbations (CorReCAP): An IOC/WESTPAC Approach เป็นบรรณาธิการ และผู้เขียนในหนังสือ: Coral Reefs of the World Vol. 14 (Springer) – Coral Reefs of the Western Pacific Ocean in a Changing Anthropocene และมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั้งในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนมาก
ด้วยการอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษ และเป็นแบบอย่างของนักวิจัยที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง มีผลงานที่โดดเด่น ทำให้ได้รับการยอมรับและความเคารพอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในระดับนานาชาติด้วย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน จึงสมควรได้รับรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ประสานพันธมิตรจัดงาน LAB Future & BIO Expo 2024 โชว์นวัตกรรมไบโอเทคอีสาน รวมสุดยอดเครื่องมือแล็บ รับการลงทุนจากทั่วโลก

 


 ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ โดยบริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด และโกลว์ฟิช ขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยและพันธมิตรในภูมิภาคอีสาน  ผนึกกกำลังสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อยอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพสู่ภาคอีสานและกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จัดงาน LAB Future & BIO Expo ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 - 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00-17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนเเก่น (ไคซ์)  


นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้จัดการทั่วไป ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ เปิดเผยมุมมองของการจัดงานครั้งนี้ว่า “งาน LAB Future & BIO Expo 2024 งานแสดงเทคโนโลยี เครื่องมือ นวัตกรรมไบโอเทคและห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดพลิกอีสานสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง  โดยนำผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการฯ จากทั่วโลกมาแสดงภายในงานกว่า 100 บริษัท และสร้างความร่วมมือกับ ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล จัดพื้นที่เครือข่ายนวัตกรรมและวิจัยรูปแบบใหม่ สนับสนุนการวิจัยและการเติบโต BCG ของจังหวัดขอนแก่นและทั่วภาคอีสาน อีกทั้งได้ทำให้จังหวัดขอนแก่นเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นจากการร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติจากประเทศญี่ปุ่น นำโดย AMEICC และ JETRO ซึ่งได้รวบรวมผู้ผลิตนวัตกรรมไบโอเทคการเกษตรและอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมาแสดงใน Japan Competency Pavilion และเป็นครั้งแรกในการเปิดพื้นที่สนับสนุนเพื่อยกระดับผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมอีสานด้านธุรกิจอาหาร เกษตร ยานยนต์ มาแสดงใน  ISAN Innovation Pavilion รวมถึงกิจกรรมใหม่เพื่อการจับคู่ธุรกิจสำหรับผู้ลงทุนและผู้จัดจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่อีสาน ใน ISAN Innovation Pitching จึงถือเป็นงานที่น่าจับตามองสำหรับผู้ผลิตและผู้สนใจด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การวิจัย อาหาร การแพทย์ ฯลฯ และทำให้เกิดมูลค่าเจรจาธุรกิจกว่า 350 ล้านบาท โดยเชื่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการ ผู้กำหนดนโยบาย จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและแทนที่ได้ตลอดเวลา”  




นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “งาน LAB Future & BIO Expo 2024 นอกจากจะเป็นงานที่นำเทคโนโลยีและเครื่องมือด้านค้นคว้าวิจัยมาแสดงแล้ว จะเป็นงานที่จุดประกายให้ธุรกิจเห็นความสำคัญและลงทุนในด้านนวัตกรรม วิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ได้นำบริษัทที่มีนวัตกรรมและส่งออกระดับโลกในภาคอาหาร เกษตร สุขภาพ ยานยนต์  มาแสดงพร้อมต่อยอดและพูดคุยเจรจาธุรกิจใน ISAN Innovation Pavilion & Showcase  รวมทั้ง ได้เชิญเครือข่ายหอการค้าในพื้นที่ภาคอีสานเข้าชมงานในครั้งนี้ โดยคาดว่า ผู้ชมงานทั้งภาคราชการและเอกชน ตลอดจน มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม โรงพยาบาล ศูนย์วิจัยและทดสอบ ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี องค์ความรู้ การจับคู่ธุรกิจ และการลงทุนใหม่ๆ พร้อมเชื่อมโยงเครือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศจากงานนี้”   

 


รศ. ดร. ชื่นจิตต์ บุญเฉิด นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย (TSB) กล่าวว่า “ในการจัดงานครั้งนี้ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย (TSB) มีความยินดีที่ได้เป็นผู้สนับสนุนงาน LAB Future & BIO Expo 2024 ด้วยสมาคมฯ มองเห็นความเป็นไปได้ของการยกระดับพื้นที่ในภูมิภาคอีสานสู่ Global Biotech Destination ซึ่งว่าด้วยอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพนั้น จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถยกระดับพื้นที่อีสานให้เกิดการไหลเข้ามาด้านเศรษฐกิจและวิจัยพัฒนา รวมถึงการปรับตัวในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไบโอเทคของประเทศไทยและอาเซียน โดยทางสมาคมฯ มีความยินดีร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาไบโอเทคภายใต้หัวข้อ “ISAN Biotech Conference” เพื่อเปิดมุมมองผู้เข้าร่วมงานและผู้สนใจในการลงทุนด้านไบโอเทคในภูมิภาคอีสาน ได้ทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการต่อยอดธุรกิจด้านไบโอเทค” 





อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ภายในงานคือ สัมมนาวิชาการการ เพื่อต่อยอดและอัพเดทเทรนด์ด้านอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านไบโอเทค การแพทย์ เกษตร อาหาร และการผลิตในทุกมิติ อาทิ สัมมนาจากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศ จัดสัมมนา MT 2024 Trends: Shaping the Future of Healthcare Services “ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนักเทคนิคการแพทย์ในพื้นที่ได้เพิ่มพูนความรู้พร้อมอัพเดทแนวทางในสายวิชาชีพโดยตรงกับทางสมาคมฯ โดยทางสมาคมฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ขยายเครือข่ายพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงได้รับการอบรมและต่อยอดในสายงานต่อไป” - รศ. ดร. ทนพ. พิทักษ์ สันตนิรันดร์ นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าว นอกจากนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสำคัญ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมจัดประชุม Novel DMSc Networking for Health and Wellness  ตลอดจนการจัดประชุมการจัดการเครื่องมือวัดในระบบคุณภาพและการประเมินผล โดยสถาบันอาหาร (NFI) และสัมมนาเพื่อการลงทุนในภูมิภาคอีสาน BOI Forum : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ โดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนภาคที่ 3  พร้อมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวทางห้องปฏิบัติการฯ ใน The Expert Forum”  





งาน LAB Future & BIO Expo 2024 เปิดให้ลงทะเบียนชมงานล่วงหน้าวันนี้ที่ www.labfuturexpo.com สอบถามข้อมูลที่  061 023 5454

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy: WelDA) เพื่อยกระดับ และพัฒนาช่างเชื่อมสู่มาตราฐานสากล

 


เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy: WelDA) โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมในพิธีเปิด ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ โดยนายชาติวุฒิ ทองกัน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ นายสุชิน ทวีทรัพย์ล้ำเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมพันธมิตรของสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม ที่ได้มาร่วม เปิดบูช เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเชื่อมในปัจจุบัน และชมกิจกรรมการเชื่อมของสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม ซึ่งได้รับความสนใจจากประธานในพิธีอย่างมาก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และบริการ โดยเฉพาะช่างเชื่อมโลหะซึ่งเป็นแรงงานทักษะฝีมือชั้นสูง ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น การก่อสร้างระบบราง ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างเชื่อมต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะมาตรฐานสากล รองรับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขต EEC อุตสาหกรรมหลัก เรือเดินทะเล และงานตรวจซ่อมรื้อถอนใต้น้ำ เป็นต้น

จึงเป็นสาขาอาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แรงงานต้องรับการพัฒนายกระดับทักษะเพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีด้านงานเชื่อมสมัยใหม่ มีมาตรฐานสากล รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงของทักษะฝีมือแรงงานในอนาคต กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy) หรือ WelDA เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ทั้งการ Up-skill Re-skill ฝีมือแรงงาน ให้ได้มาตรฐาน รองรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ตามนโยบายค่าแรงของรัฐบาล และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ นายสุชิน ทวีทรัพย์ล้ำเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงหลักสูตร และภาระกิจสำหรับการอบรมช่างเชื่อมประกอบด้วย ภารกิจที่ 1.สำหรับช่างเชื่อมสากล สาขาช่างเชื่อมไฟฟ้าโลหะด้วยมือ Manual Metal Arc Welding (MMAW) ช่างเชื่อมทิก Tungsteninert Gas (TIG) ช่างเชื่อมแม็ก Metal Active Gas ภารกิจที่ 2. เป็นการฝึกอบรมเฉพราะทาง ด้านงานเชื่อม ตามความต้องการของสถานผู้ประกอบการ ซึ่งสถานผู้ประกอบการสามารถเลือกกระบวนการเชื่อม ชนิดรอยต่อ ประเภทของวัสดุ รวมถึงลักษณะท่าทางที่จะใช้ในการฝึกตามความเหมาะสมของงาน และกิจกรรมของผู้ประกอบการเอง ภารกิจที่ 3. สอบรับรองฝีมือช่างเชื่อม ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานสากล ผู้ผ่านรับรองตามหลักสูตรที่กำหนด จะได้วุฒิบัตรรับรองฝีมือตามประเภทของการทดสอบ เช่น วุฒิบัตรการรับรองตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ วุฒิบัตรการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO9606-1 วุฒิบัตรการรับรองตามมาตรฐานสากล EN 287-1 สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็น 1ใน 6 แห่ง ในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด มีการติดตามด้านมาตรฐานทุกๆ 5 ปี ภายใต้กรอบสมาชิก 59 ประเทศทั่วโลก

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 สมุทรปราการ เลขที่ 1039 หมู่ที่ 15 ถนน เทพารักษ์ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง สมุทรปราการ โทรศัพท์ 0 2315 3804 E-mail : welda.dsd@gmail.com

ทีมเยาวชน จ.สงขลาร่วมแข่งขันการถ่ายภาพจากโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สงขลา ผลงานที่ได้รับรางวัล เทศบาลนครสงขลาจะนำไปประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวจังหวัด

  นักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานเทศบาลนครสงขลา และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและ...