วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ม. มหาสารคาม - สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คว้าถ้วยรางวัล Platinum Award สุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 67


วันที่ 30 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2024 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปิดงาน
และเป็นผู้มอบถ้วยรางวัล ประเภท รางวัล Platinum Award รางวัล Gold Award รางวัล Silver Award รางวัล Bronze Award และรางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เป็นผู้มอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)”ณ เวที Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ


นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งที่ 19 ในปีนี้จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 5 วัน มีผู้สนใจ เข้าชมงานเป็นจำนวนมากอันแสดงให้เห็นว่างานวิจัยได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งพลังแห่งการขับเคลื่อนผลงานวิจัยครั้งนี้ ด้วยกลไกการเผยแพร่และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากการวิจัยโดยการนำเสนอผลงานวิจัยระดับประเทศ มีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้ต่อยอดงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต่อไปในอนาคต


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ เข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2024 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยขยายผลการนำผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต


โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

รางวัล Platinum Award จำนวน 2 รางวัล ผู้รับรางวัลจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 150,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยผลงาน “จักรวาลข้าวไทยเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG”
- สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยผลงาน “การสร้างคุณค่าจากหอยเชอรี่สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
 
รางวัล Gold Award จำนวน 4 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 100,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ 
- มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผลงาน “มวยไทยเมืองลุง”
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยผลงาน “นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทยจากตำรับยาอดยาบ้าเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ติดสารเสพติดในระบบบริการสาธารณสุข”
- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยผลงาน “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนเเช่เยือกเเข็งเพื่อการส่งออก”
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยผลงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเห็ดออกฤทธิ์เชิงยาและการเพิ่มมูลค่าเพื่อการผลิต ส่วนประกอบอาหารเชิงฟังชันก์และอาหาร
แห่งอนาคต”

รางวัล Silver Award จำนวน 6 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่
- มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยผลงาน “ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากกระถินและฮิวมัสล้านปีลำปางเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนบนฐาน BCG”
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยผลงาน “พลิกฟื้นทุนวัฒนธรรมของเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์แห่ง UNESCO”
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยผลงาน “นวัตกรรมการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดตรังอย่างยั่งยืน”
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผลงาน “การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง”
- โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยผลงาน “การวิจัยประเมินผลเชิงพัฒนาเพื่อระบบบริการสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อผ่านนโยบาย “๓๐ บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว””
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยผลงาน “การวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย : เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม”

รางวัล Bronze Award จำนวน 8 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (4 รางวัล) ถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (4 รางวัล) พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่ 
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยผลงาน “ปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”
- การไฟฟ้านครหลวง โดยผลงาน “ผลิตภัณฑ์จานรองแก้วซึมน้ำจากวัสดุผงเซรามิกแปรสภาพของขยะลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยผลงาน “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี”
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลงาน “การพัฒนานวัตกรรมสเต็มเซลล์สู่มาตรฐาน GMP (Revolutionizing Medicine: Stem Cells Innovation and the Journey to Good Manufacturing Practices (GMP))”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยผลงาน “นวัตกรรมการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าครบวงจรสู่การยกระดับอาชีพและรายได้ชาวนาไทย”
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยผลงาน “เครื่องมือจำลองการติดตั้ง Solar PV Rooftop และจำลองการติดตั้งมิเตอร์ TOU”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยผลงาน “การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าโคนมด้วยข้อต่อใหม่สำคัญ “ธุรกิจอาหารสัตว์ชุมชน”: จากฐานทรัพยากรในพื้นที่สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น”
- สถาบันวิทยสิริเมธี โดยผลงาน “ระบบถังหมักสุดดีเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนและสารบำรุงพืชชีวภาพไบโอวิส”

รางวัลชมเชย จำนวน 12 รางวัล ผู้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โดยผลงาน “การยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปจากมังคุดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออก”
- มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยผลงาน “การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีชูจังหวัดนราธิวาสเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยผลงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยการใช้ทรัพยากรพื้นถิ่นจากยอดเขาสูงและปากอ่าวทะเลไทย”
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยผลงาน “นวัตกรรมเตาผลิต Carbo Char และการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวทาง BCG ECONOMY MODEL”
- กรมทางหลวง โดยผลงาน “การศึกษาการเสริมกำลังสะพานกรมทางหลวงรุ่นเก่าประเภทคานตัวทีโดยวิธีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
- มหาวิทยาลัยพะเยา โดยผลงาน “แม่อิงชิโบริโมเดล”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยผลงาน “การพัฒนาสื่อการเรียนรู้พื้นฐานนาฏศิลป์ไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา”
- กรมควบคุมโรค โดยผลงาน ““ทันระบาด” ชุดซอฟต์แวร์สนับสนุนการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกเชิงรุก”
- กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม โดยผลงาน “ปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร (MOD2020)”
- มหาวิทยาลัยบูรพา โดยผลงาน “การยกระดับชุมชนประมงพื้นบ้านเพื่อการจัดการธนาคารปูม้าอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ณ ธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จังหวัดระยอง”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยผลงาน “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ”
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยผลงาน “Lineman Lift”


ทั้ง วช. ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ในปีนี้ โดย วช. หวังว่าการมอบรางวัลดังกล่าวจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและศักยภาพสู่การแข่งขันในระดับเวทีระดับชาติและนานาชาติ ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567’ อว-วช จัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืน

                                      

                                     

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด "สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย"  และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  และเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจากนักวิจัยไทย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านงานวิจัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรม โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย เฝ้ารับเสด็จฯ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567

 



ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า “การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนางานวิจัยในประเทศให้เข้มแข็งเป็นระบบ มีคุณภาพ เพื่อส่งต่องานวิจัยเพื่อขยายผลต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในสังคม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ จะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก และพิสูจน์แล้วว่าทำได้และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพและพัฒนางานวิจัยของไทยให้ดีขึ้นตามลำดับ และเป็นที่ประจักษ์ว่าผลงานที่ได้จากงานวิจัยนั้นใช้ประโยชน์ได้จริง เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือของประชาชนในการสนับสนุนงานวิจัย ความตื่นตัวที่จะพัฒนางานวิจัยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคมส่วนร่วม”


นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งนี้ อว.โดย วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ เอสเอ็มอี ซึ่งปีนี้มีงานวิจัยกว่า 900 ผลงาน เข้าร่วมจัดแสดงนอกจากนี้ยังจัดให้มี Research  Festival ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเหล่านักวิจัยอย่างมากมาย อาทิ Research Lab -ห้องเรียนรู้การวิจัย  เป็นต้น อว.โดย วช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยไทยให้ศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ อันจะช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนต่อไป”

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์กรมหาชน) เจ้าของผลงานวิจัย “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก” กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะช่วยให้การส่งออกทุเรียนแกะเนื้อของประเทศมีคุณภาพ สามารถเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งได้นานถึง 6 เดือน เมื่อนำออกมาให้คลายเย็นก็จะได้เนื้อทุเรียนที่มีเนื้อสัมและรสสัมผัสเหมือนทุเรียนสด และยังคงโภชนาการได้อย่างครบถ้วน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ มีรับสั่งชื่นชม รับสั่งว่าทรงโปรดทุเรียนแต่ยังติดเรื่องกลิ่นไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เวลามีใครให้มาเลยไม่ค่อยได้กิน อยากจะเอาทุเรียนไทยไปฝากรัฐมนตรีที่จีน แต่ก็เอาไปไม่ได้ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นทุเรียนให้นำขึ้นเครื่องบินได้ก็จะดี ซึ่งรับสั่งนี้นับเป็นกำลังใจให้นักวิจัยในการที่จะสนองพระราชดำริต่อไป” 

รศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ วช. ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำมาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยเครื่องจักรและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ พัฒนาเมล็ดพันธุ์เข้มแข็ง ข้าวเปลือกปลอดมอด ข้าวฮางพรีเมียม ข้าวกาบาอาร์เอส แป้งข้าวทนย่อย ข้าวไก่ชน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พระองค์ท่านมีรับสั่งชื่นชม และรับสั่งว่า ‘อยากทำปริญญาเรื่องข้าว แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่ได้ ถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาเรื่องข้าวให้ลึกซึ้งมากกว่านี้’ ในฐานะนักวิจัยเรื่องข้าวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจให้เราที่จะทำงานนี้ต่ออย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวและงานวิจัย”

ดร.สมปราชญ์ วุฒิวัฒน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงาน ถังอ้วนอุ่น โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องขยะภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ถังอ้วนอุ่น เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษขยะอินทรีย์ในครัวเรือน สามารถนำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม สามารถลดขยะครัวเรือนได้ร้อยละร้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และของเหลือจากการผลิตก๊าชชีวภาพก็สามารนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินและต้นไม้ได้อีกด้วย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรมีรับสั่งแนะนำว่า ถ้าสามารถพัฒนาก๊าซชีวภาพไปประยุกต์ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ด้วยจะดี และมีรับสั่งชื่นชมว่าทำได้ดี เป็นงานที่ช่วยชาวบ้านได้”

สุรีรัตน์ ณ วิเชียร สถาบันบรมราชชนก หนึ่งในนักวิจัยเรื่อง ผลของชุดเพลงผสมคลื่น Binaural และ Superimposed beats ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ : การศึกษาแบบกึ่งทดลอง กล่าวว่า ชุดเพลงนี้จะประกอบด้วยเสียงดนตรียาวต่อเนื่อง 30 นาที ทำนองเพลงช้า ระดับเสียงสูงปานกลางถึงต่ำ เสียงเบา โดยใช้ความถี่บีตส์ 2 ชนิด คือ Binaural และ Superimposed beats เมื่อได้ฟังต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เมื่อได้ฟังเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เมื่อมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทอดพระเนตร มีรับสั่งว่า คนเป็นความดันโลหิตสูงเยอะ แต่เราเป็นความดันต่ำ จะใช้คลื่นนี้ได้ไหม จะต้องพัฒนาคลื่นเสียงให้เร้าใจขึ้นหรือไม่เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต จึงได้กราบทูลว่า มีทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอีกชุดหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องคลื่นเสียงที่จะช่วยความดันโลหิตต่ำ”

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายในงาน ประกอบด้วย ภาคการประชุมและสัมมนาหลากหลายประเด็นกว่า 150 เรื่อง ภาคนิทรรศการประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ อาทิ นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค นิทรรศการ Research Festival งานวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย นักวิจัยศักยภาพสูง  ศาตราจารย์วิจัยดีเด่น และ เมธีวิจัยอาวุโส วช.เป็นต้น 

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถค้นหาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518

วช. รุกเดินหน้าขับเคลื่อน "กลไก Future Talent Empowerment สร้างคนให้ตรงใจ ตอบโจทย์วิจัยของประเทศ" ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567


วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กองทุน ววน. กับการขับเคลื่อน Future Talent Empowerment” โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อเรื่อง: กลไก Future Talent Empowerment ตอบโจทย์ประเทศ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินรายการ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 


ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง กองทุน ววน. กับการขับเคลื่อน Future Talent Empowerment โดยกล่าวถึงโครงสร้างของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประเภทงบประมาณของกองทุน ววน. ทิศทางและน้ำหนักในการจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาประเทศ กลไกการผลิตและพัฒนาบุคลากร ววน. ซึ่งการผลิตกำลังคนจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของประเทศ โดยใช้กลไกเชิงวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงภาคส่วนที่ผลิตกำลังคน ต้องทดลองวิธีการใหม่ ๆ รวมถึงการเพิ่มและปรับทักษะให้กำลังคนที่มีอยู่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง: กลไก Future Talent Empowerment ตอบโจทย์ประเทศ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ว่า
วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง วช. ได้วางแผนการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตหรรมเพื่อตอบรับ Future Talent Empowerment ตามบทบาทหน้าที่ของ วช. โดยสามารถแบ่งการบริหารจัดการของ วช. เพื่อตอบรับ Future Talent Empowerment ออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ส่วนที่ 1 กลไกการสนับสนุนทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเสริมทักษะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย การสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมเส้นทางอาชีพนักวิจัย และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้(Hub of Knowledge)โดยมีศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 18 ศูนย์ และมีศูนย์กลางด้านความรู้ จำนวน 13 ศูนย์ ส่วนที่ 2 กลไกการสนับสนุนอื่น ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ (Global partnership) และกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ วช. มีเป้าหมายที่จะสร้างและรักษาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


ถัดมา เป็นการเสวนาในหัวข้อ เรื่อง “Talent Empowerment Showcase” โดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.เนรัญ สุวรรณโชติช่วงที่ปรึกษาฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมธีวิจัยอาวุโส วช. ดำเนินรายการ โดย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567

วช. เชิดชูประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย ผ่านหนังสือ “สยามรัถยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมือง“



วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุม หัวข้อเรื่อง "ขุมทรัพย์จากอดีต: ประวัติศาสตร์สยามรัถยา" โดยได้รับเกียรติจาก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พินิจประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิด้วยรากฐานอุดมศึกษา" ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยมิใช่เพียงลำดับเหตุการณ์ในอดีต หากแต่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความรู้ที่ต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนได้ตามบริบททางสังคมและพยานหลักฐานใหม่ ๆ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นมากกว่าการท่องจำข้อเท็จจริง แต่เป็นการตระหนักถึงความเป็นมาของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอัตลักษณ์ไทย แม้จะยังขาดการยอมรับในระดับสากล แต่การศึกษาค้นคว้าเชิงลึกจะช่วยยืนยันความเป็นเอกลักษณ์และความเชื่อมโยงของอารยธรรมไทยกับภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับนานาชาติ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการโลกาภิวัตน์ของไทยและศักยภาพในการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค


ดร.วิภารัตน์ กล่าวเสริมว่า วช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ โดยมุ่งหวังให้การศึกษานี้เชื่อมโยงกับรากฐานทางอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในด้านประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้อย่างมีระบบ ประวัติศาสตร์สยามรัถยาถือเป็นขุมทรัพย์จากอดีตที่มีความสำคัญ มุ่งเน้นในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเส้นทางความเจริญของสุวรรณภูมิ จึงได้รวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงเอกสารโบราณ งานวิจัยทางโบราณคดี และข้อมูลทางวรรณกรรมที่มีความสำคัญ ที่ช่วยให้เข้าใจรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามรัถยา ความรู้ที่มีค่าเกี่ยวกับการพัฒนาอารยธรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ วช. มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ประวัติศาสตร์ไทยที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป


ทั้งนี้ มีการเสวนา ในเรื่อง "สยามรัถยาและวัฒนาท้องถิ่นไทย" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์ อาจารย์จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมพ์อุมา ธัญธนกุล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 


การเสวนาครั้งนี้เพื่อตอบคำถามเรื่องเส้นทางของสุวรรณภูมิและความเจริญของประเทศไทยและศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมืองจากบุคคลจากท้องถิ่นนั้น ๆ อีกด้วย


ทีมเยาวชน จ.สงขลาร่วมแข่งขันการถ่ายภาพจากโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สงขลา ผลงานที่ได้รับรางวัล เทศบาลนครสงขลาจะนำไปประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวจังหวัด

  นักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานเทศบาลนครสงขลา และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและ...